หงุดหงิดง่าย พูดอะไรนิดหน่อย ก็อารมณ์เสีย โลกส่วนตัวสูง ไม่อยากสุงสิงกับพ่อแม่ – วัยรุ่นที่บ้านมีพฤติกรรมประมาณนี้หรือเปล่าคะ?
เด็ก หากใช่ แสดงว่าลูกของเราเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวแล้ว และอารมณ์ร้ายๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยน่ารักเท่าไรนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม StarfishLAbz เชื่อว่ายังมีพ่อแม่ส่วนใหญ่ ที่อาจมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับอารมณ์ร้ายของลูก บ้างก็คิดว่าลูกทำไปเพราะจงใจจะท้าทาย บ้างอาจคิดการกระทำเช่นนี้จำเป็นต้องถูกลงโทษเพื่อให้ปรับพฤติกรรม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจอารมณ์ลูกวัยรุ่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อพ่อแม่เข้าใจอย่างถูกต้องก็จะสามารถให้คำแนะนำและช่วยลูกก้าวผ่านวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาอารมณ์ร้ายๆ ของวัยรุ่น
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กทุกคนต้องการพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง พวกเขาจึงไม่ต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากพ่อแม่ คล้ายๆ ลูกวัยเตาะแตะที่ชอบพูดว่า “หนูทำเอง”
วัยรุ่นก็เช่นกัน พวกเขาต้องการทำสิ่งต่างๆ ให้ได้เองเหมือนกับผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าลูกวัยรุ่นอาจปฏิเสธคำแนะนำหรือการช่วยเหลือของพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งก็อาจเผลอมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ตวาด หรือปิดประตูเสียงดัง ในทางกลับกัน แทนที่จะรับฟังคำแนะนำจากพ่อแม่ วัยรุ่นก็มักเลือกที่จะเชื่อเพื่อนมากกว่า ทั้งที่เพื่อนก็เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน คำแนะนำจากเพื่อนบางครั้งจึงอาจไม่ได้ผลนัก
พฤติกรรมเหล่านี้ของวัยรุ่น จึงมักทำให้พ่อแม่หงุดหงิดใจ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสู่การเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะหากลูกยังพึ่งพาพ่อแม่เหมือนตอนที่ยังเป็นเด็ก พวกเขาก็คงไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
ที่มาของพฤติกรรมข้างต้นส่วนหนึ่งจึงเกิดจากพัฒนาการตามวัย ที่วัยรุ่นต้องการสร้างตัวตน และพิสูจน์ความสามารถเพื่อให้คนอื่นยอมรับในตนเอง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนของร่างกายที่ส่งผลกับอารมณ์ของวัยรุ่นโดยตรง
อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิดง่ายของวัยรุ่น เกิดจากฮอร์โมน เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน และเทสโทสเตอโรน ขณะที่พ่อแม่รู้สึกว่าพฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไปจนน่าตกใจ วัยรุ่นเอง บางครั้งก็รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายตนเองนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเช่นกัน ดังนั้น ในเวลาเช่นนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ จึงไม่ใช่การดุว่า ทำโทษ หรือกราดเกรี้ยวใส่ลูกที่มีอารมณ์ร้าย แต่เป็นการรับมืออย่างเข้าใจต่างหาก
3 ความเข้าใจผิดเรื่องอารมณ์วัยรุ่น ที่พ่อแม่ต้องรู้ทัน
ก่อนที่พ่อแม่จะเข้าใจอารมณ์ของวัยรุ่นได้อย่างถูกต้องนั้น ก่อนอื่นอาจต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่ออารมณ์ร้ายๆ ของวัยรุ่นกันก่อน ลองมาดูกันค่ะว่า 3 เรื่องที่พ่อแม่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอารมณ์ร้ายๆ ของวัยรุ่นมีอะไรบ้าง
1. พ่อแม่มักคิดว่า อารมณ์ร้ายของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ตั้งใจ
อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่จริงๆ แล้วอารมณ์ร้ายของวัยรุ่นหลายครั้งก็อยู่เหนือการควบคุม วัยรุ่นไม่ได้วางแผนหรือตั้งใจมาตั้งแต่แรกว่าวันนี้จะหงุดหงิดใส่แม่ จะอาละวาดกับพ่อ ในทางกลับกัน วัยรุ่นก็เป็นเหยื่อของอารมณ์ตนเองเช่นกัน
ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลายครั้งสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยที่วัยรุ่นไม่อาจรู้เท่าทันและควบคุมได้ เปรียบเหมือนการนั่งรถไฟเหาะ สิ่งที่ทำได้ ก็เพียงแค่อดทนอยู่บนขบวนรถไฟนั้นจนกว่าจะหมดรอบ และคงดีไม่น้อยหากบนรถไฟเหาะมีพ่อแม่ให้กำลังอยู่เคียงข้างไม่ทิ้งให้ลูกอ้างว้างเพียงลำพัง
ดังนั้นอารมณ์ร้ายๆ ของวัยรุ่นอาจเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ตราบเท่าที่ลูกไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่นและไม่ทำร้ายข้าวของ ก็ถือว่ายังพอรับได้ พ่อแม่ควรเข้าใจคำพูดหรือแนะนำของพ่อแม่ในขณะที่ลูกมีอารมณ์เชิงลบ อาจไม่ได้ทำให้ลูกหยุดอารมณ์ได้ในทันที การให้เวลาลูกสงบจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
2. พ่อแม่มักคิดว่า สอนลูกด้วยเหตุผลทำให้วัยรุ่นอารมณ์เย็นลงได้
การใช้เหตุผลกับลูกเป็นเรื่องดีที่ควรทำ กระนั้น หลายครั้งแม้กระทั่งกับผู้ใหญ่เองการใช้เหตุผลบางสถานการณ์ก็ไม่ได้ผล หากลูกกำลังมีอารมณ์เชิงลบ แทนการพูดด้วยเหตุผลในทันที ลองเปลี่ยนเป็นเข้าไปกอดและตบหลังลูกเบาๆ อาจบอกลูกว่า พ่อแม่อยู่ตรงนี้นะหากลูกต้องการ เพราะสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าเหตุผลก็คือ การที่วัยรุ่นรับรู้ว่ามีคนอยู่เคียงข้างและยอมรับไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร
การใช้เหตุผลจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ ทุกคนอยู่ในสภาวะอารมณ์ปกติ เมื่อมีโอกาสจึงค่อยพูดคุยเรื่องเหตุผลกับลูกภายหลัง ลูกจะรับฟังมากกว่าการสอนขณะที่ลูกกำลังอารมณ์พลุ่งพล่าน
3. พ่อแม่มักคิดว่าการทำโทษจะเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติไม่ดีของวัยรุ่นได้
เมื่อวัยรุ่นแสดงพฤติกรรมเชิงลบ สัญชาตญาณของพ่อแม่มักรู้สึกว่าต้องทำให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้น มีผลตามมาและลูกควรได้รับบทเรียน บ่อยครั้งพ่อแม่จึงใช้วิธีการลงโทษ เพื่อปรับพฤติกรรมของลูก
ความจริงแล้วการลงโทษ ไม่ว่าจะสถานเบา เช่น หักค่าขนม งดเล่นเกม ไปจนถึงสถานหนัก อย่างกักตัวในห้อง มักไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างที่พ่อแม่คิด ในทางกลับกัน การลงโทษอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง วัยรุ่นอาจเก็บตัว ออกห่างจากพ่อแม่ ไม่ใช้เวลากับครอบครัวเหมือนเคย ซึ่งจะยิ่งทำให้ยากที่พ่อแม่จะให้คำแนะนำถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม